ตามจันทรคติจีนในวันขึ้น 1 ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่  โดยชาวจีนเรียกว่า “ชุนเจี๋ย”  ( 春 节 ) และยังมีการเรียกอีกหลายชื่อ แต่ไทยเราทั่วไปเรียกว่า “ตรุษจีน”
 
การฉลองประเพณีอันเก่าแก่ของเทศกาลตรุษจีนนั้น เริ่มด้วยก่อนถึงวันเทศกาลตรุษจีนไม่กี่วันทุกบ้านจะต้องจัดการทำความสะอาดบ้านเป็นการใหญ่ เพื่อแสดงถึงการกำจัดของเก่าที่ไม่ดีออกไป ต้อนรับของใหม่ที่จะเข้ามา ในเมืองไทยก็ทำเช่นกัน เมื่อถึงวันที่ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีนก็จะต้องส่งเจ้าขึ้นสวรรค์ เจ้าองค์นี้เป็นเทพเจ้าเตาไฟที่ประจำบ้านช่องดูแลทุกข์สุขและปกป้องคนในครอบครัวให้อยู่เย็นเป็นสุข  เมื่อถึงสิ้นปีก็ต้องไปรายงานตัวพร้อมนำเรื่องราวต่างๆที่เกิดขึ้นของชาวบ้านทูลถวายแด่องค์เง็กเซียนฮ่องเต้  หลังจากวันที่ 24  ผ่านพ้นไปแล้วชาวบ้านก็วุ่นวายกับการจัดหาของขวัญปีใหม่และส่งบัตรอวยพร ชาวจีนชอบตัด   “ ชุนเหลียน ” (春联 ) คนไทยเราเรียกว่า “แถบอวยพรปีใหม่” ติดไว้หน้าบ้านและทุกที่มีบรรยากาศที่รื่นเริง เตรียมการฉลองวันขึ้นปีใหม่ (ตรุษจีน)
 
วันสุดท้ายของปีซึ่งเป็นวันสุกดิบตั้งแต่เช้าทุกบ้านจะเตรียมของไหว้เจ้า ไหว้ฟ้าดิน ไหว้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว และไหว้วิญญาณที่ไร้ญาติ ของที่ไหว้นั้นมี ของคาว 3 อย่าง  อาหาร 5 อย่าง  ผลไม้ 5 อย่าง  เหล้า ของหวาน  ธูปเทียน  กระดาษเงินกระดาษทอง  เป็นต้น   เมื่อไหว้บูชาเรียบร้อยแล้ว ตอนเย็นทุกคนในบ้านจะมารับประทานอาหารมื้อเย็นร่วมกัน ดื่มกินเฉลิมฉลองต้อนรับตรุษจีน หลังเสร็จสิ้นรับประทานอาหาร ผู้ใหญ่จะให้อังเปาเด็กเป็นนัยอวยพรให้เด็กเจริญเติบโตอย่างปลอดภัย ขณะเดียวกันก็ให้อังเปาพ่อแม่ ญาติพี่น้อง เพื่ออวยพรให้ท่านสุขภาพแข็งแรง อายุมั่นขวัญยืน ช่วงค่ำนี้บางครอบครัวอาจฉลองอยู่จนดึกดื่นข้ามคืนเข้าสู่วันใหม่  โดยในบางท้องที่มีการจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีในปีเก่า แล้วต้อนรับสิ่งดีๆในปีใหม่ที่จะเข้ามาในชีวิต
 
ตามปกติคนจีนในเมืองไทยจะเรียกวันแรกของปีใหม่ว่า “วันถือ”คือวันนี้ในบ้านคนจีนจะไม่ทำอะไร เช่น งานบ้านหรือกิจวัตรประจำวัน แต่จะเดินทางไปเยี่ยมญาติ โดยเฉพาะผู้น้อยจะไปเยี่ยมผู้หลักผู้ใหญ่พร้อมผลไม้ส้ม ซึ่งมีความหมายว่า “สิริมงคล” พร้อมกล่าวคำอวยพรปีใหม่  ซึ่งผู้รับจะรับส้มเพียง  2  ผล พร้อมนำผลส้มของตนเอง  2  ผล ใส่คืนมา เพื่อแสดงการอวยพรและให้สิ่งดีๆคืนมา  ซึ่งเป็นมารยาทและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม ซึ่งคนรุ่นใหม่เริ่มลืมเลือนกันไปแล้ว
 
ประเพณีวันตรุษจีนจะสืบเนื่องถึงเมื่อย่างเข้าสู่วันที่ 4 ของเดือนแรกตามปฏิทินจันทรคติจีน คนจีนจะไหว้เจ้าอีกครั้งเพื่อเชิญเจ้ากลับคืนสู่โลกมนุษย์ ประเพณีตรุษจีนจะสิ้นสุดลงจริงๆ ในวันขึ้น 15 ค่ำ ของเดือนแรกตามประเพณีจีน   ในอดีตจะเรียกเทศกาลโคมไฟ ตามสถานที่ต่างๆจะประดับโคมไฟ ทายบทกวี ต่อโคลงกลอน  เป็นประเพณีที่คึกคักเฉลิมฉลองกันอย่างยิ่งใหญ่
 
สำหรับประเทศไทย คนจีนหรือคนไทยเชื้อสายจีนจะไปไหว้พระไหว้เจ้าในวัดจีน ขอลูก ขอส้ม ยืมเงิน  ยืมสิงห์โต  หรือยืมเจดีย์   ที่ทำด้วยถั่วหรือน้ำตาลมารับประทานเพื่อเป็นสิริมงคล และต้องมาคืนสองเท่าในปีถัดไป   สิ้นสุดเทศกาลโคมไฟถึงถือเป็นการสิ้นสุดของเทศกาลตรุษจีน
 
เปิดรับสมัคร
หลักสูตรภาษาจีนที่เปิดสอน
Image is not available
Image is not available
มาเรียนภาษาจีนกับสถาบันภาษา ม.หัวเฉียวฯ กันนะ
Go to top
Copyright 2018